Policy Innovation Platform for the Better Future
ประเทศไทยในอนาคตต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีความซับซ้อนมากมาย ปัญหาเหล่านี้มีความทับซ้อนทั้งในเชิงประเด็น เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และบางปัญหาไม่ได้จำกัดผลกระทบแค่ในระดับประเทศเท่านั้นแต่เป็นปัญหาที่มีผลกระทบระดับโลก เช่น วิกฤตการณ์ COVID-19 ที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ปัญหาในลักษณะนี้เรียกได้ว่า เป็น Wicked Problems หรือ ปัญหาพยศ
ภายใต้โลกอนาคตที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruption) ก่อให้เกิดความซับซ้อน (Complexity) ที่เพิ่มมากขึ้น และเกิดรูปแบบของผลกระทบที่แตกต่างกัน (Heterogeneity) ทำให้การออกแบบนโยบายแบบดั้งเดิม (Conventional) ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีแนวทางในการออกแบบนโยบายใหม่ เพื่อสามารถเข้าถึงปัญหาและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด
- Crowdsourcing เป็นวิธีการระดมความคิดที่ใช้จุดเด่นของความหลากหลายทางความคิดเพื่อให้ได้ความคิดหลายมุมมองและครบทุกด้านมากที่สุด การระดมความคิดนี้ไม่เพียงมาจากแต่ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นยังหมายรวมถึงภาคประชาชนและผู้ประสบปัญหาโดยตรงซึ่งเป็นผู้ใช้และจะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ อันเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย
- อำนาจในการกำหนดนโยบายในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากเดิมอำนาจกระจุกตัวที่สถาบันการเมือง (Institutions) เปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ที่มีความหลากหลายของผู้เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การออกแบบนโยบายจากบนลงล่าง (Top Down) แบบดั้งเดิม ค่อย ๆ ถูกเปลี่ยนเป็นรูปแบบผสมที่อาศัยการระดมความคิดของผู้คนจากหลายภาคส่วน
- โดยการออกแบบนโยบายในรูปแบบดังกล่าว จำเป็นต้องมี “พื้นที่กลาง” ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนทำงานร่วมกัน ตลอดจนเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมระหว่างผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
- จึงเกิดเป็นโครงการแพลตฟอร์มนวัตกรรมนโยบายเพื่ออนาคตไทย – Policy Innovation Platform for the Better Future ที่เป็น”พื้นที่กลาง” มุ่งเน้นการระดมความคิดเห็นจากผู้คนที่หลากหลาย (Crowdsourcing) เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย เพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมด้านนโยบายใหม่ ๆ (Policy Innovation) อีกทั้ง ยังเป็นการสร้างเครือข่ายผู้มีความพร้อมในการขับเคลื่อนภายหลังนโยบายได้รับการคัดเลือก